วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คลังคำภาษาไทย




คลังคำภาษาไทย

ผู้เขียนได้จัดทำขึ้นสำหรับครูภาษาไทยได้ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ โดยการรวบรวมคำและนำเสนอ ดังนี้ค่ะ

ตอนที่ ๑ เป็นคำพื้นฐานที่สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งได้นำให้สถานศึกษาในสังกัดใช้เป็นคู่มือการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ และชั้นเด็กเล็ก โดยเป็นคำพื้นฐานที่กรมวิชาการ(เดิม)ได้จัดทำขึ้นในโครงการศึกษาคำพื้นฐานที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระดับประถมศึกษา พ.ศ.๒๕๒๙-พ.ศ.๒๕๓๑ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ ซึ่งครูผู้สอนภาษาไทยสามารถใช้เป็นคำพื้นฐานในการสอนอ่านเขียนได้

ตอนที่ ๒ เป็น คำศัพท์ ที่มีในหนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา เล่ม ๑-๒ ชุดภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที วรรณคดีลำนำ และทักษะภาษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ โดยเป็นการรวบรวมคำศัพท์ที่มีทั้งยาก ค่อนข้างยาก และบางคำเป็นคำใหม่ ตามที่หลักสูตรประสงค์จะให้ผู้เรียนได้รู้ตามที่ปรากฏในเนื้อหาของหนังสือเรียนแต่ละบท


ในการใช้คำพื้นฐานและคำศัพท์ที่นำเสนอ ครูผู้สอนภาษาไทยสามารถพิจารณาใช้ทั้ง ๒ ส่วน โดยการศึกษาคำชี้แจงของแต่ละส่วนให้ละเอียด เพื่อการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในการอ่าน-การเขียนภาษาไทยได้สูงสุด







นโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยและการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๑

เร่งรัดพัฒนา คุณภาพการเรียนรู้ภาษาไทยทุกทักษะ
โดยเน้นพัฒนานักเรียนให้ อ่านได้ อ่านคล่อง อ่านเป็น และ มีนิสัยรักการอ่าน


เป้าหมาย
๑.นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓ (ช่วงชั้นที่ ๑) อ่านได้
๒.นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔–๖ (ช่วงชั้นที่ ๒) อ่านคล่อง และอ่านเป็น
๓.นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑–๖ (ช่วงชั้นที่ ๓–๔) อ่านเป็น และมีนิสัยรักการอ่าน


อ่านได้ หมายถึง การอ่านคำ วลี ประโยค ได้ถูกต้องและรู้ความหมาย สามารถประสมคำ และจำแนกส่วนประกอบของคำได้ (พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด และตัวการันต์) การอ่านคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่กำหนดตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ดังนี้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ประมาณ ๖๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เพิ่มอีกประมาณ ๘๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เพิ่มอีกประมาณ ๑,๒๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น

อ่านคล่อง หมายถึง การอ่านออกเสียงได้อย่างชัดเจนถูกต้องตามหลักเกณฑ์การอ่าน อ่านแล้วจับใจความของเรื่องที่อ่านได้ เน้นการอ่านคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เพิ่มจากคำที่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ อีกประมาณ ๑,๔๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ – ๖ เน้นการอ่านคำใหม่และคำยากที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น


อ่านเป็น หมายถึง การอ่านได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การอ่าน รู้จักเว้นวรรคตอน และใช้น้ำเสียงได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง จับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้ อ่านอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ผลจากการอ่านในการตัดสินใจแก้ปัญหาและวินิจฉัยเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลโดยไม่ตกอยู่ในอิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อ


นิสัยรักการอ่าน หมายถึง การมีความพอใจและต้องการที่จะอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แสวงหาความรู้และความเพลิดเพลินจากการอ่าน ซึ่งเป็นการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ


ในระดับการ "อ่านเป็น" และมี "นิสัยรักการอ่าน"  นักเรียนสามารถใช้คำได้อย่างอิสระ




ประโยชน์ของคลังคำพื้นฐาน
๑.ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรภาษาไทย ในแง่ของการกำหนดเนื้อหา คือ การกำหนดคำที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยแต่ละระดับชั้น
๒.ใช้ในการพัฒนาหนังสือเรียน แบบฝึกหัด และหนังสือเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ โดยการนำคำไปใช้แต่งหนังสือและฝึกเสริมทักษะต่าง ๆ
๓.ใช้ในการจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยที่จำเป็น เช่น บัตรคำ แผนภูมิเสริมประสบการณ์ การสร้างเรื่องราวในการแสดงหุ่น การเล่นเลียนแบบ บทบาทสมมุติ การแสดงละคร เป็นต้น







รายละเอียดของคำพื้นฐาน

๑.คำชั้นเด็กเล็ก มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๔๒ คำ จำแนกเป็นคำนาม จำนวน ๑๗๕ คำ จัดประเภทของคำได้ ๑๒ หมวด คือหมวดเกี่ยวกับตำแหน่ง อาชีพมี ๑๕ คำ เครือญาติมี ๑๔ คำ อวัยวะมี ๒๒ คำ เครื่องแต่งกาย – เครื่องนอนมี ๑๑ คำ ดอกไม้มี ๔ คำ ผลไม้มี ๑๘ คำ ผักมี ๑๐ คำ อาหารมี ๑๒ คำ สัตว์มี ๒๗ คำ พาหนะมี ๔ คำ และสถานที่มี ๑๒ คำ คำกริยา คำเชื่อม และคำอื่น ๆ อีก ๖๑ คำ

๒.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีจำนวนทั้งสิ้น ๗๐๘ คำ มีลักษณะเป็นคำเดี่ยวง่ายทั้งหมด

๓.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๙๘ คำ มีลักษณะเป็นคำเดี่ยวง่าย จำนวน ๓๕๖ คำ คำประสมง่าย จำนวน ๔๑๕ คำ และคำเดี่ยวยาก จำนวน ๓๒๗ คำ

๔.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๒๑๐ คำ มีลักษณะเป็นคำเดี่ยวง่าย จำนวน ๓๔๐ คำ คำประสมง่าย จำนวน ๒๘๘ คำ คำเดี่ยวยากจำนวน ๑๖๘ คำ และคำประสมยาก จำนวน ๔๑๔ คำ





ข้อเสนอแนะในการนำคำพื้นฐานไปใช้

๑.คำพื้นฐานในชั้นเด็กเล็ก หรือบัญชีคำคุ้นตา มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๔๒ คำ เป็นคำที่เด็กเล็กใช้พูดในชีวิตประจำวันที่มีความถี่สูง การนำคำคุ้นตาไปสอนอ่านควรคัดเลือกคำที่ใช้บ่อยในท้องถิ่นและในสถานการณ์ต่าง ๆ การกำหนดจำนวนคำไม่ควรมากเกินไปควรอยู่ระหว่าง ๑๐๐–๑๕๐ คำ สำหรับการสอนอ่านคำคุ้นตานี้ ไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนอ่านแบบแจกลูกและสะกดหรือผัน ให้อ่านเป็นคำและเข้าใจความหมายของคำนั้น ๆ

๒.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓ มีจำนวนทั้งสิ้น ๓,๐๑๖ คำ เป็นคำที่ทดสอบความยากง่ายในการอ่านและการเขียนมาแล้ว โดยคัดเลือกจากจำนวนคำของบัญชีคำแต่ละชั้น ซึ่งนักเรียนใช้พูดในชีวิตประจำวันที่มีความถี่สูง ดังนั้นคำเหล่านี้จึงเป็นคำที่ควรเรียนในชั้นต่าง ๆ ตามที่กำหนด แต่การพิจารณานำคำไปใช้ในแต่ละชั้นควรพิจารณาคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง โดยพิจารณาคำที่จำเป็นต้องใช้ในท้องถิ่นนั้น ๆ และตามสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งพิจารณากำหนดจำนวนคำให้เหมาะสม

๓.คำที่กำหนดในบัญชีคำพื้นฐานแต่ละชั้นไม่ควรถือเป็นหลักตายตัวมากนัก สามารถปรับปรุงได้ตามความเหมาะสม คำในบัญชีคำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ อาจปรับมาใช้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ได้ ทั้งนี้ควรพิจารณาค่าความยากของการอ่านและเขียนด้วย เพื่อให้การใช้คำเหมาะสมกับวัยและตามลำดับขั้นการเรียนรู้ของนักเรียน สำหรับคำบางคำที่ยากมากแต่มีความจำเป็นต้องใช้ในระดับชั้นนั้น ๆ ก็อาจนำมาใช้ได้ โดยครูผู้สอนภาษาไทยสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอนคำยากนั้น ๆ เพิ่มเติมด้วย

๔.การนำคำในบัญชีคำพื้นฐานแต่ละชั้นไปใช้ในการสร้างสื่อการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ   นอกจากจะใช้คำจากบัญชีคำพื้นฐานแล้ว ควรพิจารณานำคำที่ใช้เฉพาะกลุ่มสาระนั้น ๆ มาใช้ประกอบด้วย





แนวทางการตรวจสอบติดตามการอ่าน – การเขียนของนักเรียน

๑.ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ ควรติดตามและตรวจสอบว่านักเรียนอ่านออกหรือไม่ โดยเน้นที่การอ่านออกเสียงเป็นสำคัญ และนักเรียนอ่าน เขียน คำ ประโยค ข้อความได้ถูกต้องและเข้าใจความหมายหรือไม่ โดยใช้คำพื้นฐานซึ่งกรมวิชาการเคยวิจัยไว้ และจากหนังสือเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓ ที่เสนอไว้ เป็นเกณฑ์พิจารณาความยากง่ายของสาระที่อ่าน ดังนี้

บัญชีคำพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เพิ่มอีก จำนวน ๗๐๘ รวมเป็น ๙๕๐ คำ
บัญชีคำพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เพิ่มอีก จำนวน ๙๕๐ คำ รวมเป็น ๑,๐๙๘ คำ
บัญชีคำพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เพิ่มอีก จำนวน ๑,๒๑๐ คำ รวมเป็น ๓,๐๑๖ คำ

โดยกำหนดร้อยละ ๗๐ จึงผ่านเกณฑ์การอ่านออกเขียนได้ ดังนี้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ อ่านเข้าใจความหมายของคำ จำนวน ๖๖๕ คำ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ อ่านเข้าใจความหมายของคำ จำนวน ๑,๒๖๔ คำ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ อ่านเข้าใจความหมายของคำ จำนวน ๒,๑๑๒ คำ



๒.ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ควรติดตามการอ่าน การเขียน ตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด ในช่วงชั้นที่ ๒ โดยความสามารถเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงชั้นที่ ๑ สาระที่อ่านมีความหลากหลายและยากขึ้น รวมทั้งให้ฝึกฝนวิธีอ่านหลายแบบ จึงจะถือได้ว่าเมื่อนักเรียนจบช่วงชั้นนี้แล้ว “อ่านเก่งขึ้น อ่านเร็วขึ้น” โดยใช้คำศัพท์จากหนังสือเรียนที่เสนอไว้ในตอนที่ ๒

ดังนั้นการออมคำไว้ในคลังใจให้มาก จึงก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ภาษาไทยและสาระการเรียนรู้อื่นๆสำหรับเด็กโดยแท้.



ดาวน์โหลดได้ที่นี่ค่ะ
http://supervisor-cm1.net/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=17

สวัสดีค่ะ..

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แบบฝึกซ่อมเสริมอ่านเขียนภาษาไทย ป.1-3


แบบฝึกซ่อมเสริมทักษะ
การอ่านและเขียนภาษาไทย
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓


ผู้เขียนได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ครูผู้สอนใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการสอนซ่อมและเสริมเสริมนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนภาษาไทยด้านการอ่านและเขียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ โดยได้ทำตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ขณะนี้ได้พัฒนาขึ้นและเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสพท.เชียงใหม่ เขต ๑ และเว็บไซต์ของผู้เขียนเอง  ที่นำมาบอกกล่าวแก่คุณครูในบันทึกนี้ เนื่องจากมีคุณครูหลายๆท่านทั่วไทยโทรศัพท์มาสอบถามและอยากเห็นตัวอย่าง/แนวทางในการนำไปใช้  จึงขออนุญาตนำมาฝากค่ะ..
เนื้อหาที่ใช้ในการสร้างกิจกรรมในแบบฝึกได้นำเนื้อหาสาระต่างๆในบทเรียนในเรื่องความรู้หลักเกณฑ์ทางภาษาที่เกี่ยวกับรูปและเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การแจกลูกสะกดคำ การผันอักษร และ คำควบกล้ำ ซึ่งนักเรียนมักจะประสบปัญหาในการอ่านและเขียน   เนื่องจากทั้งการอ่านและการเขียนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนสำหรับเด็กที่หัดอ่านใหม่ๆ   ถ้าเด็กยังไม่มีความพร้อม ครูจะสอนอย่างไรนักเรียนก็อ่านเขียนไม่ได้ เด็กที่มีความเจริญเติบโตด้านร่างกาย ได้แก่ ประสาทหู ประสาทตา มีความเจริญถึงขั้นที่จะฟังหรือเห็นความแตกต่างระหว่างรูปและเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ในด้านสมองมีความเข้าใจพอที่จะทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เข้าใจเรื่องที่ครูเล่าหรืออ่านให้ฟัง มีความคิดรวบยอดกับสิ่งต่าง ๆ โดยการที่จะมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ได้นั้นก็ต้องอาศัยประสบการณ์ที่กว้างขวางทางสังคมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเด็กเองจะส่งผลให้เด็กมีความพร้อมที่จะอ่านและเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากความพร้อมทางด้านต่าง ๆ แล้ว การเรียนรู้ภาษาไทยให้ได้ผลยังจะต้องได้รับการฝึกฝนให้คล่องแคล่ว แม่นยำ จึงจะนำไปใช้ได้ เช่น การฝึก การอ่านคำให้จำรูปคำได้แล้วฝึกแจกลูกสะกดคำ ให้นักเรียนนำหลักเกณฑ์ไปอ่านและเขียนคำอื่น ๆ เป็นต้น ดังนั้นพัฒนาการทางภาษาของเด็กจึงต้องคำนึงถึงความพร้อมและการฝึกฝนเป็นสำคัญ    
วัตถุประสงค์ของแบบฝึกฯ
(๑)ให้ครูผู้สอนใช้เป็นสื่อหรือเครื่องมือในการช่วยเหลือนักเรียนที่มีข้อบกพร่อง ด้านการอ่านและเขียนที่สืบเนื่องมาจากขาดความพร้อมและทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้แต่ละหน่วยการเรียนรู้/บทเรียน
 
(๒)ให้นักเรียนได้รับการฝึกฝนที่ถูกวิธีตามลำดับขั้นตอนของการฝึกทักษะ คือ ให้เห็นตัวอย่างแล้วทำตามอย่างได้ แล้วจึงฝึกให้ทำเองโดยไม่ต้องดูตัวอย่างและฝึกฝนบ่อยๆ จนคล่องแคล่ว สามารถนำไปใช้ได้ 
(๓)เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้เฉพาะเรื่อง เช่น การอ่านและเขียนคำตามมาตราตัวสะกดต่าง ๆ การผันตัวอักษร การแจกลูกสะกดคำ การออกเสียงคำควบกล้ำ เป็นต้น

ลักษณะกิจกรรมในแบบฝึก
๑.ได้จัดเป็นแบบฝึกหัดแต่ละเรื่องตามเนื้อหา โดยแต่ละแบบฝึกหัดจะมี กิจกรรมประมาณ ๔-๖ กิจกรรม ซึ่งเนื้อหาได้จัดเรียงลำดับตามสาระการเรียนรู้ที่นำเสนอในสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระภาษาไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถปรับใช้ได้ตามหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่สถานศึกษาจัดขึ้นตามความเหมาะสม
๒.ทุกแบบฝึกหัดได้จัดเรียงลำดับเนื้อหาจากง่ายไปหายาก การฝึกแต่ละ กิจกรรมมีรูปภาพและเพลงประกอบทุกกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นและเร้าให้เด็กมีความสนใจที่จะทำแบบฝึกหัดและให้ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
๓.ทุกแบบฝึกหัดจะประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ
·         การร้องเพลงเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนให้น่าสนใจและสนุกสนานโดยเป็นเพลงที่เกี่ยวกับความรู้หลักเกณฑ์ทางภาษาที่เป็นเนื้อหา / สาระของแต่ละเรื่อง
·         การเขียนตามรอยและการขีดเส้นใต้คำ เพื่อให้จำรูปคำสระ และชื่อของพยัญชนะได้
·         การทายพยัญชนะจากภาพ เพื่อให้จำรูปและชื่อพยัญชนะได้
·         การโยงเส้นคำและข้อความกับรูปภาพ เพื่อให้รู้ความหมายของคำและข้อความ
·         การประสมคำจากภาพ เพื่อให้จำรูปพยัญชนะได้
·         การแยกส่วนประกอบของคำ เพื่อให้รู้จักหลักเกณฑ์ของการประสมคำ
·         การเติมคำหรือข้อความในช่องว่าง เพื่อให้รู้จักรูปและความหมายของคำและข้อความ
·         การจับคู่คำและความหมาย เพื่อให้รู้จักรูปคำและความหมาย
·         การเขียนคำให้ตรงกับภาพ เพื่อให้จำรูปคำและรู้จักสะกดคำ
·         การทายปริศนาคำทาย เพื่อให้รู้จักคิดด้วยความสนุกสนานเร้าใจ
·         การเรียงคำเป็นประโยค เพื่อให้รู้จักใช้คำในประโยค
·       การแต่งประโยคจากภาพ

วิธีใช้แบบฝึกในการสอนซ่อมเสริม
ทักษะการอ่านและเขียน ภาษาไทย

๑. ใช้สอนเป็นรายบุคคล
เป็นการสอนแบบตัวต่อตัว ตามข้อบกพร่องของแต่ละคน ควรใช้กับห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนที่มี     ข้อบกพร่องในการเรียนเรื่องนั้น ๆ น้อยคน แต่มีลักษณะของปัญหา ต่างกัน ความสำเร็จของการสอน/จัดกิจกรรมวิธีนี้ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ เทคนิคการถ่ายทอดความรู้ การสร้างแรงจูงใจและความเอาใจใส่ใกล้ชิดของครู
. ใช้สอนเป็นกลุ่มย่อย
ในบางเนื้อหานักเรียนจะมีปัญหาลักษณะเดียวกันหรือเรื่องเดียวกัน ควรให้เรียนรวมกันเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามปัญหา ปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันบ้าง หรือแยกฝึกเป็นรายบุคคลบ้าง ครูผู้สอนสามารถสลับการจัดกิจกรรมของแต่ละกลุ่มได้ตามความเหมาะสม
๓. ให้นักเรียนสอนกันเอง
ครูผู้สอนสามารถใช้แบบฝึกนี้โดยให้นักเรียนเก่งสอนนักเรียนอ่อน ลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน โดยอาจสอนตัวต่อตัวหรือเป็นกลุ่มย่อย ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของครู ครูจะต้องทำความเข้าใจให้นักเรียนที่เป็นผู้สอนให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการสอน ขั้นตอนการสอน การใช้สื่อ และการจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนสอนกันเอง นักเรียนจะสื่อความหมายเข้าใจกันได้ง่ายกว่าที่ครูสื่อกับนักเรียนเพราะเป็นเด็กด้วยกันนอกจากจะทำให้นักเรียนที่เรียนอ่อนเรียนดีขึ้นแล้ว นักเรียนที่เป็นผู้สอนยังได้ทบทวนความรู้และทักษะของตนเองให้ดีขึ้นไปด้วย ข้อควรระวังคือ พฤติกรรมการสอนของนักเรียนเก่งอาจสร้างปมด้อยให้นักเรียนอ่อน ครูจึงควรหาวิธีแนะนำให้เข้าใจ ใช้คำพูดไม่กระทบกระเทือนจิตใจ และให้กำลังใจเพื่อนผู้เรียนอ่อนอยู่เสมอ

รายละเอียดเนื้อหา เล่ม ๑
แบบฝึกหัดที่ ๑ คำที่ใช้สระอาและพยัญชนะ ต ถ ฟ ม ร
แบบฝึกหัดที่ ๒ คำที่ใช้สระอูและพยัญชนะ ก ด ข ห น ว ด
แบบฝึกหัดที่ ๓ คำที่ใช้สระอี สระใอ(ไม้ม้วน) และพยัญชนะ ช บ อ
แบบฝึกหัดที่ ๔ คำที่ใช้สระโอ สระไอ(ไม้มลาย)และพยัญชนะ จ ป พ
แบบฝึกหัดที่ ๕ คำที่ใช้สระอุ สระอำ
แบบฝึกหัดที่ ๖ คำที่ใช้สระอะ
แบบฝึกหัดที่ ๗ คำที่ใช้สระอิ สระเอ
แบบฝึกหัดที่ ๘ คำที่ใช้สระอัว สระออ
แบบฝึกหัดที่ ๙ คำที่ใช้สระเอา สระเออ
แบบฝึกหัดที่ ๑๐ คำที่ใช้สระอือ
แบบฝึกหัดที่ ๑๑ คำที่ใช้สระแอะ และผันวรรณยุกต์อักษรสูง
แบบฝึกหัดที่ ๑๒ คำที่ประสมด้วยสระเออะ
แบบฝึกหัดที่ ๑๓ คำที่ประสมด้วยสระเอือ สระเอะ
แบบฝึกหัดที่ ๑๔ คำที่ประสมด้วยสระเอีย สระโอะ
แบบฝึกหัดที่ ๑๕ คำที่ประสมด้วยสระเอาะ

รายละเอียดเนื้อหา เล่ม ๒
แบบฝึกหัดที่ ๑ อ่าน เขียนคำที่มี ง สะกด
แบบฝึกหัดที่ ๒ อ่าน เขียนคำที่มี ย สะกด
แบบฝึกหัดที่ ๓ อ่าน เขียนคำที่มี ว สะกด
แบบฝึกหัดที่ ๔ อ่าน เขียนคำที่มี ก สะกด
แบบฝึกหัดที่ ๕ อ่าน เขียนคำที่สะกดด้วยแม่กด
แบบฝึกหัดที่ ๖ อ่าน เขียนคำที่สะกดด้วยแม่กบ
แบบฝึกหัดที่ ๗ อ่าน เขียนคำที่สระเปลี่ยนรูปและลดรูป
แบบฝึกหัดที่ ๘ ทบทวนการใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และตัวสะกด
คู่มือครูแนวการจัดกิจกรรมฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน
เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพนักเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย






ดาวน์โหลดแบบฝึกได้...ที่นี่เจ้า

แบบฝึกซ่อมเสริมอ่านเขียนภาษาไทย ป.1-3 ของ ศน.อ้วน






กิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาอ่านเขียนภาษาไทย



แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่าน

๑.   นักเรียนมีปัญหาในการอ่านออกเสียงไม่ตรงตามตัวอักษร

          ปัญหาในการอ่านออกเสียงไม่ตรงตามตัวอักษร  สามารถแบ่งแยกได้ตามประเภทของปัญหา ๒ ลักษณะ คือ อ่านออกเสียงไม่ตรงตามตัวอักษร  โดยออกเสียงเป็นพยัญชนะที่มีรูปร่างคล้ายกัน  เช่น    ออกเสียงเป็น    หรือ  ถ, พ   ออกเสียงเป็น  ผ,  ฟ,    ฯลฯ  และอ่านออกเสียงเป็นพยัญชนะอื่นนอกเหนือจากพยัญชนะที่ใกล้เคียง

        แนวกิจกรรมที่ควรฝึก   เช่น
๑.หาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงสระ  พยัญชนะ กับภาพของตัวอักษร
๒.ฟังนิทานเกี่ยวกับตัวอักษรนั้น ๆ  พร้อมดูรูปภาพประกอบ
๓.ร้องเพลงเกี่ยวกับตัวอักษรนั้น ๆ พร้อมดูรูปภาพประกอบ
๔.เล่นเกม (ดูในหัวข้อถัดไปนะคะ)
                              ฯลฯ


๒.  มีปัญหาในการอ่านคำ

          นักเรียนที่มีปัญหาในการอ่านคำ  สามารถจำแนกเหตุได้    ประการ คือ
๑.ไม่รู้จักสระ หรือสับสนเรื่องสระ
๒.ประสมคำไม่เป็น
๓.อ่านออกเสียงคำเพี้ยน

          แนวกิจกรรมที่ควรฝึก  เช่น
๑.ฝึกการอ่านเป็นคำ ๆ จากง่ายไปหายาก
๒.ฝึกจัดกลุ่มคำที่เหมือนหรือแตกต่างกัน
๓.ฝึกประสมคำจากภาพ,บัตรคำ,ของจริง
                                         ฯลฯ



๓.   มีปัญหาในการอ่านประโยค

          นักเรียนที่มีปัญหาการอ่านประโยค  สามารถจำแนกสาเหตุได้ ๓ ประการ คือ
๑.การอ่านเพิ่มคำ 
๒.การอ่านลดคำหรือข้ามคำ
๓.การอ่านเว้นวรรคไม่ถูกต้อง

          แนวกิจกรรมที่ควรฝึก  เช่น
๑.ฝึกเรียงคำให้เป็นประโยค
๒.ฝึกต่อคำให้เป็นประโยค



๔.  มีปัญหาในการอ่านจับใจความ

          แนวกิจกรรมที่ควรฝึก  เช่น   ตอบคำถามจากเรื่องที่ฟัง / อ่านจากนิทาน   บทเพลง   เรื่องสั้น  บทความ  สารคดี  เป็นต้น

                                                        ...ยังมีต่อเจ้า..