วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คลังคำภาษาไทย




คลังคำภาษาไทย

ผู้เขียนได้จัดทำขึ้นสำหรับครูภาษาไทยได้ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ โดยการรวบรวมคำและนำเสนอ ดังนี้ค่ะ

ตอนที่ ๑ เป็นคำพื้นฐานที่สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งได้นำให้สถานศึกษาในสังกัดใช้เป็นคู่มือการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ และชั้นเด็กเล็ก โดยเป็นคำพื้นฐานที่กรมวิชาการ(เดิม)ได้จัดทำขึ้นในโครงการศึกษาคำพื้นฐานที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระดับประถมศึกษา พ.ศ.๒๕๒๙-พ.ศ.๒๕๓๑ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ ซึ่งครูผู้สอนภาษาไทยสามารถใช้เป็นคำพื้นฐานในการสอนอ่านเขียนได้

ตอนที่ ๒ เป็น คำศัพท์ ที่มีในหนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา เล่ม ๑-๒ ชุดภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที วรรณคดีลำนำ และทักษะภาษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ โดยเป็นการรวบรวมคำศัพท์ที่มีทั้งยาก ค่อนข้างยาก และบางคำเป็นคำใหม่ ตามที่หลักสูตรประสงค์จะให้ผู้เรียนได้รู้ตามที่ปรากฏในเนื้อหาของหนังสือเรียนแต่ละบท


ในการใช้คำพื้นฐานและคำศัพท์ที่นำเสนอ ครูผู้สอนภาษาไทยสามารถพิจารณาใช้ทั้ง ๒ ส่วน โดยการศึกษาคำชี้แจงของแต่ละส่วนให้ละเอียด เพื่อการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในการอ่าน-การเขียนภาษาไทยได้สูงสุด







นโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยและการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๑

เร่งรัดพัฒนา คุณภาพการเรียนรู้ภาษาไทยทุกทักษะ
โดยเน้นพัฒนานักเรียนให้ อ่านได้ อ่านคล่อง อ่านเป็น และ มีนิสัยรักการอ่าน


เป้าหมาย
๑.นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓ (ช่วงชั้นที่ ๑) อ่านได้
๒.นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔–๖ (ช่วงชั้นที่ ๒) อ่านคล่อง และอ่านเป็น
๓.นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑–๖ (ช่วงชั้นที่ ๓–๔) อ่านเป็น และมีนิสัยรักการอ่าน


อ่านได้ หมายถึง การอ่านคำ วลี ประโยค ได้ถูกต้องและรู้ความหมาย สามารถประสมคำ และจำแนกส่วนประกอบของคำได้ (พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ ตัวสะกด และตัวการันต์) การอ่านคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่กำหนดตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ดังนี้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ประมาณ ๖๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เพิ่มอีกประมาณ ๘๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เพิ่มอีกประมาณ ๑,๒๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น

อ่านคล่อง หมายถึง การอ่านออกเสียงได้อย่างชัดเจนถูกต้องตามหลักเกณฑ์การอ่าน อ่านแล้วจับใจความของเรื่องที่อ่านได้ เน้นการอ่านคำพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เพิ่มจากคำที่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ อีกประมาณ ๑,๔๐๐ คำ รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ – ๖ เน้นการอ่านคำใหม่และคำยากที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งคำที่ใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น


อ่านเป็น หมายถึง การอ่านได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การอ่าน รู้จักเว้นวรรคตอน และใช้น้ำเสียงได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง จับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้ อ่านอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ผลจากการอ่านในการตัดสินใจแก้ปัญหาและวินิจฉัยเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลโดยไม่ตกอยู่ในอิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อ


นิสัยรักการอ่าน หมายถึง การมีความพอใจและต้องการที่จะอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แสวงหาความรู้และความเพลิดเพลินจากการอ่าน ซึ่งเป็นการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ


ในระดับการ "อ่านเป็น" และมี "นิสัยรักการอ่าน"  นักเรียนสามารถใช้คำได้อย่างอิสระ




ประโยชน์ของคลังคำพื้นฐาน
๑.ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรภาษาไทย ในแง่ของการกำหนดเนื้อหา คือ การกำหนดคำที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยแต่ละระดับชั้น
๒.ใช้ในการพัฒนาหนังสือเรียน แบบฝึกหัด และหนังสือเสริมประสบการณ์ต่าง ๆ โดยการนำคำไปใช้แต่งหนังสือและฝึกเสริมทักษะต่าง ๆ
๓.ใช้ในการจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยที่จำเป็น เช่น บัตรคำ แผนภูมิเสริมประสบการณ์ การสร้างเรื่องราวในการแสดงหุ่น การเล่นเลียนแบบ บทบาทสมมุติ การแสดงละคร เป็นต้น







รายละเอียดของคำพื้นฐาน

๑.คำชั้นเด็กเล็ก มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๔๒ คำ จำแนกเป็นคำนาม จำนวน ๑๗๕ คำ จัดประเภทของคำได้ ๑๒ หมวด คือหมวดเกี่ยวกับตำแหน่ง อาชีพมี ๑๕ คำ เครือญาติมี ๑๔ คำ อวัยวะมี ๒๒ คำ เครื่องแต่งกาย – เครื่องนอนมี ๑๑ คำ ดอกไม้มี ๔ คำ ผลไม้มี ๑๘ คำ ผักมี ๑๐ คำ อาหารมี ๑๒ คำ สัตว์มี ๒๗ คำ พาหนะมี ๔ คำ และสถานที่มี ๑๒ คำ คำกริยา คำเชื่อม และคำอื่น ๆ อีก ๖๑ คำ

๒.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีจำนวนทั้งสิ้น ๗๐๘ คำ มีลักษณะเป็นคำเดี่ยวง่ายทั้งหมด

๓.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๙๘ คำ มีลักษณะเป็นคำเดี่ยวง่าย จำนวน ๓๕๖ คำ คำประสมง่าย จำนวน ๔๑๕ คำ และคำเดี่ยวยาก จำนวน ๓๒๗ คำ

๔.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๒๑๐ คำ มีลักษณะเป็นคำเดี่ยวง่าย จำนวน ๓๔๐ คำ คำประสมง่าย จำนวน ๒๘๘ คำ คำเดี่ยวยากจำนวน ๑๖๘ คำ และคำประสมยาก จำนวน ๔๑๔ คำ





ข้อเสนอแนะในการนำคำพื้นฐานไปใช้

๑.คำพื้นฐานในชั้นเด็กเล็ก หรือบัญชีคำคุ้นตา มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๔๒ คำ เป็นคำที่เด็กเล็กใช้พูดในชีวิตประจำวันที่มีความถี่สูง การนำคำคุ้นตาไปสอนอ่านควรคัดเลือกคำที่ใช้บ่อยในท้องถิ่นและในสถานการณ์ต่าง ๆ การกำหนดจำนวนคำไม่ควรมากเกินไปควรอยู่ระหว่าง ๑๐๐–๑๕๐ คำ สำหรับการสอนอ่านคำคุ้นตานี้ ไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนอ่านแบบแจกลูกและสะกดหรือผัน ให้อ่านเป็นคำและเข้าใจความหมายของคำนั้น ๆ

๒.คำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓ มีจำนวนทั้งสิ้น ๓,๐๑๖ คำ เป็นคำที่ทดสอบความยากง่ายในการอ่านและการเขียนมาแล้ว โดยคัดเลือกจากจำนวนคำของบัญชีคำแต่ละชั้น ซึ่งนักเรียนใช้พูดในชีวิตประจำวันที่มีความถี่สูง ดังนั้นคำเหล่านี้จึงเป็นคำที่ควรเรียนในชั้นต่าง ๆ ตามที่กำหนด แต่การพิจารณานำคำไปใช้ในแต่ละชั้นควรพิจารณาคัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง โดยพิจารณาคำที่จำเป็นต้องใช้ในท้องถิ่นนั้น ๆ และตามสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งพิจารณากำหนดจำนวนคำให้เหมาะสม

๓.คำที่กำหนดในบัญชีคำพื้นฐานแต่ละชั้นไม่ควรถือเป็นหลักตายตัวมากนัก สามารถปรับปรุงได้ตามความเหมาะสม คำในบัญชีคำพื้นฐานชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ อาจปรับมาใช้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ได้ ทั้งนี้ควรพิจารณาค่าความยากของการอ่านและเขียนด้วย เพื่อให้การใช้คำเหมาะสมกับวัยและตามลำดับขั้นการเรียนรู้ของนักเรียน สำหรับคำบางคำที่ยากมากแต่มีความจำเป็นต้องใช้ในระดับชั้นนั้น ๆ ก็อาจนำมาใช้ได้ โดยครูผู้สอนภาษาไทยสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอนคำยากนั้น ๆ เพิ่มเติมด้วย

๔.การนำคำในบัญชีคำพื้นฐานแต่ละชั้นไปใช้ในการสร้างสื่อการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ   นอกจากจะใช้คำจากบัญชีคำพื้นฐานแล้ว ควรพิจารณานำคำที่ใช้เฉพาะกลุ่มสาระนั้น ๆ มาใช้ประกอบด้วย





แนวทางการตรวจสอบติดตามการอ่าน – การเขียนของนักเรียน

๑.ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ ควรติดตามและตรวจสอบว่านักเรียนอ่านออกหรือไม่ โดยเน้นที่การอ่านออกเสียงเป็นสำคัญ และนักเรียนอ่าน เขียน คำ ประโยค ข้อความได้ถูกต้องและเข้าใจความหมายหรือไม่ โดยใช้คำพื้นฐานซึ่งกรมวิชาการเคยวิจัยไว้ และจากหนังสือเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑–๓ ที่เสนอไว้ เป็นเกณฑ์พิจารณาความยากง่ายของสาระที่อ่าน ดังนี้

บัญชีคำพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เพิ่มอีก จำนวน ๗๐๘ รวมเป็น ๙๕๐ คำ
บัญชีคำพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เพิ่มอีก จำนวน ๙๕๐ คำ รวมเป็น ๑,๐๙๘ คำ
บัญชีคำพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เพิ่มอีก จำนวน ๑,๒๑๐ คำ รวมเป็น ๓,๐๑๖ คำ

โดยกำหนดร้อยละ ๗๐ จึงผ่านเกณฑ์การอ่านออกเขียนได้ ดังนี้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ อ่านเข้าใจความหมายของคำ จำนวน ๖๖๕ คำ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ อ่านเข้าใจความหมายของคำ จำนวน ๑,๒๖๔ คำ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ อ่านเข้าใจความหมายของคำ จำนวน ๒,๑๑๒ คำ



๒.ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ควรติดตามการอ่าน การเขียน ตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด ในช่วงชั้นที่ ๒ โดยความสามารถเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงชั้นที่ ๑ สาระที่อ่านมีความหลากหลายและยากขึ้น รวมทั้งให้ฝึกฝนวิธีอ่านหลายแบบ จึงจะถือได้ว่าเมื่อนักเรียนจบช่วงชั้นนี้แล้ว “อ่านเก่งขึ้น อ่านเร็วขึ้น” โดยใช้คำศัพท์จากหนังสือเรียนที่เสนอไว้ในตอนที่ ๒

ดังนั้นการออมคำไว้ในคลังใจให้มาก จึงก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ภาษาไทยและสาระการเรียนรู้อื่นๆสำหรับเด็กโดยแท้.



ดาวน์โหลดได้ที่นี่ค่ะ
http://supervisor-cm1.net/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=17

สวัสดีค่ะ..