วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

กระบวนการกัลยาณมิตรนิเทศ


การสร้างพลังให้โรงเรียนเข้มแข็งเกิดขึ้นจากการตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียนมีความตั้งใจที่จะพัฒนาตนตลอดกระบวนการ มีผู้สนับสนุนด้านความรู้ หลักการ และทรัพยากร พร้อมใจกันปฏิบัติงานและเรียนรู้ไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมาย  การพัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนสามารถเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้  ถ้าครูและผู้บริหารมีความตระหนักความสนใจใฝ่รู้ต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนและพัฒนาตนเองได้   ทุกฝ่ายมีความจริงใจ ไว้วางใจและเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน   โดยมีการสนับสนุนและเสริมพลังจากภายนอก

การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพและปรับปรุงการเรียนการสอน   ผู้นิเทศ ได้แก่ ศึกษานิเทศก์  ผู้บริหาร ฝ่ายวิชาการ ฯ  การนิเทศแบบกัลยาณมิตรสามารถทำให้กระบวนการนิเทศประสบผลสำเร็จได้จริง เมื่อผู้นิเทศมีลักษณะความเป็นกัลยาณมิตร คือ น่ารัก ชวนให้เข้าไปไต่ถาม ขอคำปรึกษา น่าเคารพ ผู้รับการนิเทศเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นที่พึ่งได้ น่ายกย่องในฐานะผู้ทรงความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง รู้จักพูด  ให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมทีจะรับฟังคำปรึกษา คำเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์ สามารถอธิบายเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนให้เข้าใจได้ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปได้