นิเทศด้วยใจ...
ก่อนหน้าที่ครอบครัวเราจะจัดการศึกษาโดยครอบครัว คำว่า “ศึกษานิเทศก์” นั้นเป็นคำที่ไม่สู้จะคุ้นเคยนัก ภาพของการนิเทศก์ก็ดูจะไม่ต่างไปจากการเป็นวิทยากรอบรมเสริมความรู้ให้แก่บรรดาครูบาอาจารย์
ในทัศนะของเรา “ครู” เป็นงานที่สังคมไทยให้การเคารพยกย่อง ด้วยความคาดหวังต่อบทบาทของครู ที่ไม่เพียงต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดทักษะความรู้ให้แก่ผู้เรียน แต่ยังเป็นผู้ปลูกฝังและฟูมฟักคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนด้วย เพื่อให้เติบใหญ่ไปเป็นสมาชิกที่ดีและมีคุณภาพของสังคม ครูจึงเป็นงานที่ต้องอาศัยแรงกายแรงใจและความมุ่งมั่นมากเป็นพิเศษ
ดังนั้น “ครูของครู” ย่อมเป็นภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ในฐานะผู้ชี้แจงแนะนำทางการศึกษาให้แก่บรรดาครูอาจารย์ เพราะศึกษานิเทศก์และภาระหน้าที่การเป็นครูของครูนี้แหละที่จะเป็นกลไกการสร้างครูคุณภาพ (มืออาชีพ) สร้างการศึกษาของชาติอย่างเป็นระบบ
นิเทศอย่างไรจึงจะได้ครูดี? (ไม่เพียงแค่ครูเก่ง) หากนิเทศครูด้วยการบอกให้ทำ ครูจะสอนนักเรียนต่อด้วยการสั่งให้ปฏิบัติไหม? ศึกษานิเทศก์ต่างจากวิทยากรอย่างไร? และคำถามอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับกลไกการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อเด็กไทยของเรา
จวบจนเมื่อครอบครัวเราตัดสินใจจัดการศึกษาให้ลูกสาวคนเดียวของบ้านในระบบบ้านเรียน เราไม่เพียงไดัรับรู้เรื่องราวของแวดวงการศึกษาเพิ่มมากขึ้น แต่ยังได้เห็น มีโอกาสได้สัมผัสกับตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการให้ความรู้และคำแนะนำ
“...สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำอยู่นี่แหละคือ... และถ้าเราสามารถเสริม... เชื่อมโยงไปสู่... ได้ก็เยี่ยมเลยค่ะ”
“...มีอะไรโทรมาได้เลยนะค่ะ... ที่สำคัญ ห้ามเกรงใจ”
“... ... ... “
ทุกครั้งที่พบปะ เราจะเห็นศึกษานิเทศก์มาพร้อมกับรอยยิ้ม รับฟังว่าเราทำอะไรไปบ้าง ไม่เคยบอกว่าการสอนของพ่อกับแม่ผิดและที่ถูกต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มาเพื่อช่วยจริงๆ ช่วยดูว่าเราขาดอะไร จะเสริมอย่างไรเพื่อให้เด็กนักเรียนคนเดียวของเราได้รับประโยชน์สูงสุด แม้การสนทนาผ่านระบบการสื่อสารเราก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงมิตรไมตรีและความเมตตาที่ส่งผ่านมาให้อย่างสม่ำเสมอ เรารู้สึกถึงความเชื่อมั่นที่ศึกษานิเทศก์มีต่อเราในฐานะผู้สอน และนั่นส่งผลให้เราเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น (แต่แทบทุกครั้งมักจะมีการบ้านให้ทำต่อหรือเพิ่มเติมเสมอ) สิ่งที่ตามมาจึงเป็นกำลังใจและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาก้าวต่อไปด้วยความเต็มใจ
ฟังดูแล้วชวนให้นึกถึงนิทานเรื่องที่สายลมกับดวงตะวันแข่งกันทำให้คนเดินทางถอดเสื้อคลุม... สายลมกล้าโหมพัดหวังให้เสื้อคลุมหลุดปลิว แต่พัดยิ่งแรง นักเดินทางยิ่งยึดกุมเสื้อไว้แน่น ส่วนตะวันนั้น เริ่มส่องแสงอุ่น แล้วค่อยๆ ฉายแสงแรงขึ้น นักเดินทางร้อนจนเหงื่อตก ไม่นานก็ถอดเสื่อคลุมออกเอง...
สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาเผยให้เราได้เห็นคำตอบในเรื่องของการนิเทศ หากอยากได้ครูดีและเก่งก็ต้องชี้แนะครูด้วยคุณธรรมคู่ความรู้ หากอยากให้ระบบการศึกษาไทยเข้มแข็งทั้งสมองและจิตใจ ก็ต้องชี้นำสังคมด้วยปัญญา ซึ่งสวนทางกับการกำหนดกฎเกณฑ์เป้าหมายเป็นกรอบบังคับให้ปฏิบัติ ทำได้ตามเป้าก็ตบรางวัล ไม่ได้ตามเกณฑ์ก็คาดโทษลงทัณฑ์ ซึ่งมีบทพิสูจน์ให้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้วว่า กระตุ้นกันได้ก็แต่เพียงด้านปริมาณเท่านั้น
เราอยากจะเรียกสิ่งที่ครอบครัวเราได้สัมผัสว่า “นิเทศด้วยใจ” ใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาและคุณธรรม ครูผู้สอนสั่งด้วยท่าทีที่สุภาพอ่อนโยน เป็นมิตรกับผู้สอน (พ่อแม่) เมตตาต่อผู้เรียน (น้องก้านตอง) ให้ความรัก ให้การยอมรับ ให้เวลา ให้คำแนะนำ ให้การช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ให้คำชมเชย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือให้โอกาส
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นปฏิบัติการเชิงบวก ที่จะสร้างสรรค์ สร้างเสริม ทั้งผู้เรียน ผู้สอนให้มีพลังในการเรียนรู้ ทั้งในแนวทางปกติและการแสวงหาหนทางแห่งความรู้ใหม่ๆ ได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อยย่อท้อ
ขอขอบพระคุณ ศึกษานิเทศก์วัชราภรณ์ วัตรสุข คุณครูผู้เปิดโอกาสให้ครอบครัวเราได้พบกับการนิเทศด้วยใจ คุณครูผู้เป็นเสมือนหนึ่งญาติผู้ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยเมตตา
กราบขอบพระคุณด้วยใจ
ครอบครัวก้านตอง